Monday, June 25, 2012

การฝังเข็มช่วยลดน้ำหนัก ได้อย่างไร

ฝังเข็มช่วยลดน้ำหนักได้อย่างไร

   

              ก่อนอื่นต้องแยกสาเหตุความอ้วนหรือโรคอ้วน กันซะก่อน ซึ่งแบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. กลุ่มอ้วนแกร่ง คือมีสาเหตุจากเรื่องกระเพาะอาหารและลำไส้ร้อน
 
2. กลุ่มอ้วนพร่อง คือมีสาเหตุจากเรื่องการทำงานของ ม้ามพร่อง หรือส่วนน้อยอาจจะมีไตพร่องด้วย

               การฝังเข็มเพื่อลดน้ำหนักจะไปช่วยปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ให้กลับมาเป็นปกติ และจำเป็นที่แพทย์ต้องวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นคนอ้วนแบบใด

               กลุ่มอ้วนจากสาเหตุเรื่องกระเพาะอาหารและลำไส้ร้อน การรักษาจะมุ่งไปที่การขจัดความร้อนและระบายไฟออกจากกระเพาะอาหารหรือในคน ที่มีสาเหตุจากเรื่องเสมหะตกค้างในร่างกาย การรักษาจะมุ่งไปที่เสริมการทำงานของม้าม สลายเสมหะและปรับพลังชี่ (ไขมันส่วนเกินของร่างกายถูกจัดเป็น เสมหะชนิดหนึ่งในหลักการแพทย์จีน )

               ปกติการฝังเข็มลดน้ำหนักจะใช้วิธีลงเข็มตามแขนขาและหน้าท้อง บางรายอาจต้องลงเข็มบริเวณหลังด้วย การลงเข็มที่จุดใดบริเวณใดขึ้นอยู่กับสาเหตุตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

                เพื่อให้การลดน้ำหนักได้ผลดียิ่งขึ้น การลงเข็มที่บริเวณใบหูร่วมด้วย เรียกว่า ฝังเข็มที่หู จะ ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเบื่ออาหาร ลดการอยากทานลงไปได้  ซึ่งเป็นวิธีไปเสริมการลงเข็มบริเวณแขนขาลำตัวที่ไปจัดปรับสมดุลอวัยวะ ต่างๆ
                 สำหรับผู้ที่มีรูปร่างอ้วนไม่มากนัก การลงเข็มหูแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจเพียงพอที่จะไปช่วยระงับความอยากรับ ประทานอาหารให้ลดลงได้

ที่มาของข้อมูล :  Thaiyinyang.com

Wednesday, June 13, 2012

กดจุดรักษาอาการปวดศีรษะ

อาการปวดหัวเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ของเราทุกคน คนบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะได้ง่ายและมากกว่าคนบางคน อาการปวดศีรษะอาจ มีอาการตั้งแต่ปวดเล็กน้อยจนถึงปวดมากๆ เช่น ปวดไมเกรน ที่มักจะมีอาการปวดมากและมักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง สำหรับคนที่ปวดศีรษะมากอาจมีอาการถึงขั้นทำงานไม่ได้ต้องลาหยุดงานไปเลย โดยปกติการรักษาอาการปวดศีรษะในปัจจุบันมักจะใช้วิธีทานยาแก้ปวด ซึ่งยาที่ทานก็มีตั้งแต่ ยาแก้ปวดทั่วไปจนถึงยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แก้ปวดมาก ซึ่งถ้าหากเป็นการทานยาอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลข้างเคียงของการใช้ยาที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้  ในทางตรงกันข้ามหากการรักษา อาการปวดศีรษะไม่ต้องใช้วิธีทานยา แต่หันมาใช้วิธีการแพทย์จีนเช่นการฝังเข็ม หรือการกดจุดมาใช้แทนก็จะสามารถช่วยระงับอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างมาก
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปวดศีรษะแบบเรื้อรัง หรือในผู้ที่พึ่งปวดศีรษะมาได้ไม่นาน การรักษาด้วยการกดจุด จะให้ผลดีในการรักษาอย่างมาก        สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแบบเรื้อรังหรือปวดแบบไมเกรนหรือ ปวดแบบไตรเจมินอล (Trigeminal neuralgia) หรือปวดที่หน้าบริเวณข้อต่อกระดูกขากรรไกร (Temporomandibular pain) การกดจุดแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้มากนัก มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจ วินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ ด้วยวิธีการฝังเข็มร่วมกับการทานยาสมุนไพรด้วย
จุดกดสำคัญที่ใช้รักษาอาการปวดหัว ได้แก่จุดเหอกู่ (Hegu/LI4) จุดเฟิงฉือ (Fengchi/GB20) จุดกดเจ็บ (จุดอาซื่อ/Ahshi) จุดซ่านจู้ (Zanzhu/BL2) จุดซ่างซิง (Shangxing/DU23) จุดไป๋หุ้ย (Baihui/DU20) จุดจู๋ซานหลี่ (Suzanli/ST36)

จุดเหอกู่ (Hegu/LI4) เป็น จุดที่มีความสำคัญและใช้กันมากจุดหนึ่ง เป็นจุดที่อยู่ในเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ มีการใช้จุดนี้เพื่อขับเคลื่อนการไหลเวียนของพลังชี่ (Qi) ใช้ในการระงับอาการปวด ใช้สร้างภูมิคุ้มกันโรคและใช้ในการกระตุ้นการคลอด จุดนี้ถูกใช้ในการขับเคลื่อนการไหลเวียนของพลังชี่ (Qi) ไม่ให้เกิดการอุดตัน โดยเฉพาะในบริเวณศีรษะ แต่ก็สามารถจะใช้จุดนี้กับส่วนอื่นๆของร่างกายได้อีกด้วย  เป็นจุดที่เหมาะสำหรับการรักษาอาการปวด โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดตา ตาอักเสบ ปวดไซนัส (ทิศทางเดินของเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ เดินจากปลายนิ้วชี้ผ่านแขนด้านนอก ข้ามมาที่บริเวณหัวไหล่ จึงทำให้มีคุณสมบัติช่วยรักษาอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับแขน มือและไหล่ได้ดี  และจุดเหอกู่เป็นจุดที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาอาการผิดปกติ ในบริเวณดังกล่าวนี้)
จุดเหอกู่ยังมีความเชื่อมโยงกับระบบทางเดินอาหาร จึงทำให้มีการนำ เอาจุดนี้ไปใช้รักษาอาการปวดท้อง และอาการท้องผูก ร่วมกับอาการ ลำไส้ใหญ่อักเสบอื่นๆได้อีกด้วย


ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่บริเวณกล้ามเนื้อระหว่างนิ้วชี้และหัวนิ้วมือ เป็นจุดที่อยู่สูงสุดเมื่อเลื่อนนิ้วทั้งสองเข้าหากัน




การกดจุดนี้ทำได้ด้วยการใช้หัวนิ้วมือของมือข้างหนึ่งกดคลึงที่บริเวณ จุดดังกล่าวของมืออีกข้างหนึ่ง อาจจะใช้ดินสอปลายยางลบกดและคลึงที่จุดดังกล่าวนาน 2-3 นาทีได้เช่นกัน หรือจนกว่าจะรู้สึกหนักๆชาๆบริเวณที่กดหรือบริเวณผ่ามือนั้น ในบางคนที่มีความรู้สึกไวๆอาจจะมี ความรู้สึกไปตลอดแนวเส้นลมปราณ วิ่งไปตามแขนถึงไหล่ถึงศีรษะได้ (ห้ามกดจุดนี้ในคนท้องเพราะจะไปกระตุ้นให้ มีการบีบตัวของมดลูก ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้)

จุดเฟิงฉือ (Fengchi/GB20) เป็นจุดที่อยู่ในเส้นลมปราณถุงน้ำดี เป็นจุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ที่ใช้ในการปรับสมดุล ของร่างกายในส่วนของศีรษะและอวัยวะสัมผัสต่างๆ เป็นจุดที่มีความสำคัญใช้ ในการรักษาอาการปวดศีรษะจากหลายๆสาเหตุ โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะ ตาแดง น้ำตาไหล ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือเมื่อร่างกายถูกกระทำจากการเปลี่ยนแปลงของลมและอากาศเย็น นอกจากใช้รักษาอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการกระทำของลม หรือจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศภายนอกแล้ว จุดนี้ยังถูกนำมาใช้รักษาอาการที่เกิดจากลมที่เกิดภายในร่างกายซึ่งเป็นลม ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของตับ เช่นมีอาการปวดศีรษะ อาการสั่น ความดันสูง หรือที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต
ตำแหน่งของจุดเฟิงฉืออยู่บริเวณด้านหลังของคอ บริเวณท้ายทอยอยู่ใต้กระดูกทัดดอกไม้ ด้านในเวลาคลำที่บริเวณทัดดอกไม้ให้คลำจากยอดทัดดอกไม้ทแยงลงมาด้านใน ของหลังคอจะคลำรู้สึกได้เป็นรอยบุ๋มลงไปเล็กน้อย และเมื่อกดลงไปที่รอยบุ๋มนี้จะรู้สึก หนักๆชาๆที่บริเวณท้ายทอย



การกดจุดให้ใช้ปลายนิ้วมือทั้ง4นิ้ว (นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย) คลำบริเวณด้านหลังคอบริเวณ ทัดดอกไม้ลงมา เมื่อคลำพบรอยบุ๋มดังกล่าวแล้วจึง ใช้ปลายนิ้วชี้หรือนิ้วกลางกดลงไป การกดอาจจะใช้ปลายดินสอยางลบกดแทนปลายนิ้วมือได้  การกดจุดให้ใช้วิธีการ กดร่วมกับการปล่อยนาน 2- 3 นาทีหรือจนกว่าจะรู้สึกอาการปวดดีขึ้น  การกดจุดนี้มักจะกดจุดทั้ง 2 ข้างของศีรษะ หรือนอกจากจะมั่นใจว่าอาการปวดเป็นเพียงข้างเดียวแน่ๆ ก็สามารถกดเพียงข้างเดียวได้(จุดเฟิงฉือ เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถใช้ร่วมกับจุดอื่นๆ ใช้ในการรักษาอาการป่วยที่เป็นผลจากการอุดตันหรือการที่เลือดหมุนเวียนติด ขัดเช่น อาการเวียนศีรษะ ความคิดเหม่อลอย  ตาลาย เสียงดังในหู  หูหนวก ความผิดปกติของการได้กลิ่น ความผิดปกติของการรับรส  ได้เป็นอย่างดี)

จุดกดเจ็บ (จุดอาซื่อ/Ahshi) เป็น จุดที่อยู่ในบริเวณที่ปวดหรือใกล้ๆกับบริเวณที่ปวดเช่น บริเวณคอหรือศีรษะเป็นจุดที่มักจะเกิดขึ้นได้เอง ผู้ป่วยมักจะบอกได้ว่าตนเองมีจุดกดเจ็บ อยู่ที่ไหน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์รักษาได้ง่ายขึ้นหรือในบางครั้งแพทย์สามารถ ตรวจพบจุดกดเจ็บได้อย่างง่ายๆจากการตรวจร่างกายที่บริเวณนั้นๆ  จุดกดเจ็บที่ มักตรวจพบได้บ่อยๆได้แก่บริเวณต้นคอและที่ศีรษะ ซึ่งจะพบได้บ่อยครั้งที่จุดกดเจ็บจะ เกิดขึ้นใกล้ๆกับบริเวณจุดที่เกิดโรค การกดจุดนี้อาจจะใช้ปลายนิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่ง ที่ผู้กดถนัดกดลงไปที่จุดๆนั้น หรืออาจจะใช้ดินสอด้านปลายยางลบ กดลงไปจนรู้สึกมีอาการเจ็บ หนักๆ หรือชาๆ โดยปกติการกดจุดที่จุดนี้จะ ค่อนข้างเจ็บเพราะที่บริเวณจุดกดเจ็บนี้ถึงแม้จะไม่กด ผู้ป่วยก็มักจะรู้สึกเจ็บมากอยู่แล้ว

จุดซ่านจู้ (Zanzhu/BL2) เป็น จุดในเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ เป็นจุดที่ใช้ในการควบคุม พลังชี่ (Qi) ที่บริเวณลูกนัยน์ตาและที่บริเวณศีรษะ ช่วยระงับอาการปวดได้ด้วย เป็นจุดที่ใช้ในการ รักษาอาการปวดศีรษะด้านหน้า ใช้ในการรักษาอาการปวดจากไซนัส หรืออาการปวดศีรษะจาก อาการหวัด หรือใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะจากสาเหตุของสายตา ตาอักเสบ ตาแดงหรือปวดตา เนื่องจากจุดนี้อยู่ในเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะซึ่งวิ่งผ่านแนวหลังขนานกับ กระดูกสันหลัง จึงถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดหลัง หรือปวดคอได้ด้วยในบางครั้ง
ตำแหน่งของจุดนี้อยู่บริเวณเหนือหัวคิ้วด้านในทั้งสองข้างเล็กน้อย
การกดจุดสามารถใช้นิ้วกดหรือใช้ปลายดินสอยางลบก็ได้ การใช้นิ้วกดให้ใช้อุ้งนิ้วหัวแม่มือ กดที่บริเวณดังกล่าวทีละข้าง การใช้ปลายแท่งดินสอกดให้ระวังไม่ให้พลาดมาถูกลูกนัยน์ตา

จุดซ่างซิง (Shangxing/DU23) เป็น จุดในเส้นลมปราณตู เป็นจุดที่ใช้ในการปรับสมดุล ของจมูกและนัยน์ตา ช่วยลดอาการปวดและช่วยสงบจิตได้  เป็นจุดที่ใช้ในการรักษาอาการปวด หัวบริเวณหน้าผากได้ดี เหตุผลก็เช่นเดียวกับจุดจุดซ่านจู้ (Zanzhu/BL2) นอกจากนี้จุดนี้ยังใช้รักษา อาการอื่นๆได้อีกเช่น อาการกระสับกระส่าย อาการสับสนจากความเครียด ใช้จุดนี้บ่อยในการรักษา อาการปวดหัวจากโรคไซนัสอักเสบ หรือใช้จุดนี้รักษาอาการจมูกดมไม่ได้กลิ่น หรือปัญหาสายตาสั้น โดยเฉพาะในเด็ก
ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่บริเวณกลางศีรษะอยู่เหนือรอยเส้นผมด้านหน้ากลาง ศีรษะสูงขึ้นไปประมาณครึ่งนิ้ว
การกดจุดสามารถใช้อุ้งมือนิ้วชี้หรือนิ้วกลางกดจุดกลางศีรษะ หรือจะใช้แท่งดินสอปลาย ยางลบกดก็ได้เช่นกัน

จุดไป๋หุ้ย (Baihui/DU20) เป็น จุดที่อยู่ในเส้นตู มีหน้าที่ช่วยสงบจิต ช่วยฟื้นคืนสติผู้หมดสติ ช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยไปปรับโดยการเพิ่มหรือลดระดับหยางให้อยู่ในระดับพอดี จุดนี้เป็นจุดหลักในการ รักษาอาการปวดหัวแบบทั่วไปและแบบกลางศีรษะ ช่วยรักษาอาการหนักๆ และอาการเกร็งของคอ ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะจากความความดันโลหิตสูงหรือต่ำ และยังใช้จุดนี้รักษาอาการแขนขาสั่น อาการหมดสติ อาการอัมพาตด้านใดด้านหนึ่ง อาการชัก ความจำเสื่อม อาการเวียนศีรษะ อาการสับสน นอกจากนี้ยังมีการนำเอาจุดนี้ไปช่วยรักษาอาการ มดลูกหย่อน ริดสีดวงทวาร และอาการเลือดออกไม่หยุด
ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่กลางศีรษะอยู่ระหว่างยอดหูทั้งสองข้าง
การกดจุดสามารถใช้อุ้งมือนิ้วชี้หรือนิ้วกลางกดจุดกลางศีรษะ หรือจะใช้แท่งดินสอปลาย ยางลบกดก็ได้เช่นกัน

จุดจู๋ซานหลี่ (Suzanli/ST36) เป็น จุดที่อยู่ในเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร มีหน้าที่ช่วยเสริม พลังชี่ (Qi) ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น ช่วยระงับอาการปวด ช่วยให้จิตใจสงบ ช่วยเรียกฟื้นคืนสติ เป็นจุดที่ถูกนำมาใช้รักษามากที่สุด เป็นจุดที่มีพลังในเส้นลมปราณกระเพาะอาหารมากที่สุดและเป็นจุดที่ถูกนำมาใช้ เป็นประจำในการ รักษาอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร รวมถึงอาการปวดศีรษะบริเวณด้านหน้าที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร จุดนี้เป็นจุดหลักที่ใช้ในการบำรุงร่างกายใช้รักษา อาการอ่อนเพลียที่เกิดมาจากสาเหตุทั้งจากกายและใจ ดังนั้นถ้าเป็นอาการปวดหัวจากความอ่อนเพลีย หรือจากการรบกวนของกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ (ซึ่งมักจะเป็นอาการปวดหัวด้านหน้า) สามารถรักษาโดยใช้จุดนี้ได้  นอกจากนี้แล้วยังสามารถใช้จุดนี้ในการรักษาความผิดปกติอื่นๆ ได้อีกเช่น อาการเบื่ออาหาร โรคกระเพาะอาหาร ถ่ายเหลวปนเลือดแบบโรคบิด อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องผูกและถ่ายเหลว อาการทางด้านผิวหนังเช่น เป็นผื่นแดง เป็นลมพิษ เป็นต้น  
ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่บริเวณหน้าแข้งทั้งสองข้าง อยู่ใต้กระดูกสะบ้าที่หัวเข่าลงมาประมาณ 3 นิ้ว (ประมาณ 1 ผ่ามือ) และอยู่ห่างจากขอบกระดูกหน้าแข้งออกมาด้านข้างประมาณ 1 นิ้ว
การกดจุดสามารถใช้นิ้วมือกดหรือใช้ปลายดินสอยางลบมากด โดยให้คลำหาจุดที่จะกดก่อน โดยใช้ผ่ามือมาวัดระยะทางจากใต้กระดูกสะบักที่หัวเข่าต่ำลงมา 1 ผ่ามือ (ประมาณ 3 นิ้ว) แล้วจึงคลำหาขอบกระดูกหน้าแข้ง (กระดูกทิเบีย/Tibia) ให้ห่างออกมา 1 นิ้ว จุดนี้คือจุดจู๋ซานหลี่ เมื่อคลำได้จุดแล้วจึงให้กดโดยใช้อุ้งมือหัวนิ้วแม่มือกดคลึงลงไปที่บริเวณ ดังกล่าวจะรู้สึกได้ถึง ความรู้สึกหนักๆตื้อๆที่บริเวณนี้ ถ้าต้องการใช้ปลายดินสอยางลบกดให้เปลี่ยนมาใช้มือ แท่งดินสอแล้วกดลงที่จุดดังกล่าวให้แท่งดินสอตั้งฉากกับขา กดในแบบกดแล้วปล่อย ร่วมกับกดในแบบกดแล้วบิดแท่งดินสอ

Friday, June 8, 2012

หญ้าหนวดแมว : สมุนไพรช่วยผู้ป่วยนิ่วในไตได้

ขอขอบพระคุณ บทความดีๆ จาก เวบต์ไซสถาบันการแพทย์แผนไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ :orthosiphon aristatus Mig.

ชื่อพ้อง : O. graudiflorus Bolding  หรือ:O. Stamineus Benth.

สารสำคัญ ในใบของหญ้าหนวดแมว มีเกลือโปแตสเซียม ในปริมาณ สูง 0.7-0.8 %


  หญ้าหนวดแมวเป็นพืชที่ปลูกอยู่ทั่วไปตามบ้าน มีดอกขาวสวย ออกดอกเกือบทั้งปี จึงเป็นไม้ประดับที่สวยงาม นอกจากนั้นยังมีคุณค่าทางการรักษา เกสรตัวผู้ยื่นยาวออกมานอกกลีบดอก ทำให้มีลักษณะคล้ายหนวดแมว จึงมีคนเรียกพืชชนิดนี้ว่า หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว เป็นพืชที่ปลูกง่ายนิยมปลูกโดยการปักชำ หรือใช้เมล็ด ขึ้นง่าย เติบโตได้เร็ว ปลูกเป็นแปลงผัก หรือปลูกในกระถาง หญ้าหนวดแมวมีชื่อพื้นเมือง เช่น พยัพเมฆ, บางรักป่า, อีตู่ดง

ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา

ใช้ ปัสสาวะ ขับนิ่ว ใบอ่อนใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ที่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากมีเกลือโปแตสเซียมมาก หญ้าหนวดแมวใช้รักษานิ่วได้ทั้งนิ่วด่างซึ่งเกิดจากแคลเซียม (หินปูน) ซึ่งมักจะเป็นก้อนที่เกิดจากการดื่มน้ำที่มีหินปูน และใช้รักษานิ่วกรดซึ่งเกิดจากกรดยูริก นิ่วจำนวนนี้จะไม่เป็นก้อนแต่จะร่วนเป็นเม็ดทราย ไม่ทึบแสง มักเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์มากเกินไป ทำให้มีกรดยูริกสูง เมื่อรับประทานหญ้าหนวดแมว ซึ่งมีโปแตสเซียมสูง จะทำให้ในกรดมีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้กรดยูริก และเกลือยูเรต (urate) ไม่จับตัวเป็นก้อน ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างในไต ช่วยขยายท่อไตให้กว้างขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการปวด หญ้าหนวดแมวไม่มีฤทธิ์ละลายนิ่ว ดั้งนั้นนิ่วก้อนใหญ่จะไม่ได้ผล ใช้ได้ดีกับนิ่วก้อนเล็กๆ ฤทธิ์ขับปัสสาวะของหญ้าหนวดแมวจะช่วยดันเม็ดนิ่วเล็กๆ ให้หลุดออกมา (วันดี กฤษณพันธ์ .2539 : 162)

ผลการศึกษาวิจัยหญ้าหนวดแมว

ศ.นพ.วีรสิงห์ เมืองมั่น ได้ทำการศึกษากับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยให้คนไข้รับประทานยาชงหญ้าหนวดแมวทุกวัน วันละ 3 เวลา 2-6 เดือน ผลพบว่า ได้ผลดี สามารถลดขนาดนิ่ว 23 ราย มีนิ่วหลุด 40 % มีอาการดีขึ้น 20%

รศ.นพ.อมร เปรมกมล ได้ทำการศึกษาผลของหญ้าหนวดแมวในการลดขนาดนิ่วไต ซึ่งได้นำเสนอผลงานวิจัยหญ้าหนวดแมว ในการประชุมเสนอผลงานวิชาการในวันที่ 27-29 มิถุนายน 2543 พบว่าหญ้าหนวดแมว สามารถลดขนาดนิ่วได้ และผู้ป่วยนิ่วที่มีอาการเรื้อรังได้แก่อาการแน่นท้อง ปวดเอว ปวดข้อ เมื่อยเพลีย ปวดศีรษะ แสบร้อนสีข้าง ปวดขา หลังให้การรักษาด้วยหญ้าหนวดแมว พบว่า อาการดังกล่าวลดลง เกือบจะหมด และยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น สามารถทำงานได้มากขึ้น

จากผลการศึกษาปรากฏว่าผลของสมุนไพรหญ้าหนวดแมว ในการลดขนาดนิ่วไตที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคนิ่วไตที่ได้รับความทุกข์ทรมานทางกาย ความทุกข์ทางใจ การสูญเสียเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งที่มีราคาสูง การเป็นนิ่วที่พบบ่อยในภาคอีสาน ซึ่งประชาชนมีฐานะยากจน การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่การผ่าตัด การสลายนิ่ว ล้วนแต่ต้องใช้เงินมากมายนั้น การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่ว เป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ช่วยลดค่ารักษาพยาบาล ประชาชนปลูกใช้เอาได้ ขั้นตอนใช้ไม่ยุ่งยาก

ข้อแนะนำและวิธีการใช้

ใช้ยอดอ่อน (ซึ่งมีใบอ่อน 2 – 3 ใบ) ควรเก็บช่วงที่หญ้าหนวดแมวกำลังออกดอก เพราะจะเป็นช่วงที่มีสารสำคัญมาก (แต่ไม่ใช้ดอก) นำมาหั่นเป็นท่อนสั้นๆตากแดดให้แห้งแล้วใช้ 1 หยิบมือ (2 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 5 – 10 นาที ดื่มขณะร้อนๆ วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร และต้องดื่มน้ำตามมากๆ

ข้อควรระวัง

    เนื่องจากหญ้าหนวดแมวมีเกลือโปแตสเซียมสูง จึงไม่ควรใช้กับคนที่เป็นโรคหัวใจ

    ควรใช้การชง ไม่ควรใช้การต้มและควรใช้ใบอ่อน ไม่ใช้ใบแก่ เพราะอาจมีสารละลายออกมามากเกินไป ทำให้มีฤทธิ์กดหัวใจ

    ถ้าใช้ใบสดจะมีอาการคลื่นไส้และหัวใจสั่น จึงควรใช้ใบตากแห้ง

    สารจากหญ้าหนวดแมวจะทำให้ยาจำพวกแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น จึงไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมวร่วมกับแอสไพริน

 เอกสารอ้างอิง

    วันดี กฤษณพันธ์. สมุนไพรน่ารู้. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2539.

    วิทย์ เที่ยมบูรณธรรม. พจณานุกรมสมุนไพรไทย. กรุงเทพฯ. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2531

    อมร เปรมกมล และคณะ รายงานวิจัย เรื่องการศึกษาผลของหญ้าหนวดแมวในการลดขนาดของนิ่วไต. คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.งานวิจัย 2541